ความเป็นมา

อนุสัญญา IPPC คือ ข้อตกลงระหว่างประเทศด้านสุขอนามัยพืช (plant health) เป็นคำย่อที่มาจาก International Plant Protection Convention ข้อตกลงนี้เพื่อปกป้องศัตรูพืชที่อาจติดมากับพืช ผลิตผลพืช หรือส่วนของพืชที่ยังมีชีวิตอยู่ รวมถึงเมล็ดพันธุ์และเชื้อพันธุ์ ที่มีการเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ

ตั้งแต่ พ.ศ. 2538 (ค.ศ.1995) เป็นต้นมา องค์การการค้าโลก (World Trade Organization, WTO) ถือเป็นองค์การสูงสุดในการจัดระเบียบและกำกับดูแลการค้าของโลกขึ้นใหม่แทนระเบียบเดิมที่เคยใช้อัตราภาษีศุลกากรเป็นตัวกำกับ โดยองค์การการค้าโลกได้สร้างกรอบความตกลงทางการค้าของสินค้ากลุ่มต่างๆทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ภาคการบริการ ให้เกิดความเป็นธรรมและมีความเป็นเสรีมากขึ้น

สำหรับความตกลงที่สำคัญของภาคการเกษตร คือ ความตกลงว่าด้วยสินค้าเกษตร (Agreement on Agriculture: AOA) ที่มีการกล่าวถึงมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชไว้ในมาตรา 14 และนำมาขยายความเป็นความตกลงเฉพาะอีกฉบับหนึ่ง คือ ความตกลงมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช หรือเรียกโดยทั่วไปว่า “ความตกลง SPS” ซึ่งนับเป็นความตกลงที่มีบทบาทสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศด้านสินค้าเกษตรและอาหาร ความตกลง SPS มุ่งหมายให้การนำเข้า ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของแต่ละประเทศ มีความปลอดภัยต่อสุขภาพคน (Food safety) สุขอนามัยสัตว์ (Animal health) และสุขอนามัยพืช (Plant health or Phytosanitary) ดังนั้น ก่อนที่ประเทศสมาชิก WTO ประเทศใดประเทศหนึ่งจะออกมาตรการใดๆเกี่ยวกับความปลอดภัยอาหาร สุขอนามัยสัตว์และสุขอนามัยพืชที่จะมีผลต่อประเทศคู่ค้า ต้องให้ความสำคัญต่อหลักการภายใต้มาตราของความตกลง SPS ดังนี้

มาตรา 2 สิทธิและพันธกรณีพื้นฐาน (Basic Rights and Obligations) ของประเทศสมาชิกไว้ว่า สมาชิกมีสิทธิที่จะใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชเท่าที่จำเป็น บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อคุ้มครองชีวิต หรือสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ หรือพืช และต้องไม่ปฏิบัติตามอำเภอใจ หรือเลือกปฏิบัติ รวมทั้งไม่นำมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชไปใช้ในลักษณะซึ่งจะก่อให้เกิดการจำกัดการค้าระหว่างประเทศ

มาตรา 3 การทำให้เกิดความกลมกลืน (Harmonization) โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกกำหนดมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช แนวทาง หรือข้อเสนอแนะตามมาตรฐานระหว่างประเทศ เพื่อให้อยู่บนพื้นฐานที่กลมกลืนกันอย่างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

มาตรา 4 ความเท่าเทียมกัน (Equivalence) โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกผู้ส่งออกสามารถแสดงหลักฐานแก่ประเทศสมาชิกผู้นำเข้าว่ามาตรการของตนมีผลเท่ากับระดับความคุ้มครองของประเทศสมาชิกผู้นำเข้า ทั้งนี้ประเทศสมาชิกผู้นำเข้าสามารถร้องขอเพื่อตรวจสอบ ทดสอบ หรือวิธีการอื่นๆ ตามที่เห็นสมควร

มาตรา 5 การประเมินความเสี่ยง และการกำหนดระดับที่เหมาะสมของการคุ้มครองสุขอนามัยหรือสุขอนามัยพืช (Assessment of Risk and Determination of the Appropriate Level of Sanitary or Phytosanitary Protection) โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องมั่นใจว่าการกำหนดมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชตั้งอยู่บนพื้นฐานการประเมินค่าความเสี่ยง ที่จะเกิดขึ้นกับคน สัตว์ พืช โดยใช้แนวทางประเมินความเสี่ยงที่พัฒนาโดยองค์การมาตรฐานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 6 การปรับให้เข้ากับสภาพของภูมิภาครวมทั้งเขตที่ปลอดแมลงศัตรูพืชหรือโรคและเขตที่มีความชุกชุมของแมลงศัตรูพืชหรือโรคในระดับต่ำ(Adaptation to Regional Conditions, Including Pest-or Disease-Free Areas and Areas of Low Pest or Disease Prevalence) โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องยอมรับหลักการในการกำหนดเขตที่ปลอดศัตรูพืชหรือโรค หรือเขตพบศัตรูพืชหรือโรคในระดับต่ำ (Areas of low pest or disease prevalence) โดยใช้แนวทางที่พัฒนาโดยองค์การมาตรฐานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

ภายใต้ความตกลง SPS ให้ประเทศสมาชิก WTO แต่ละประเทศกำหนดมาตรการ Food safety, Animal health และ Plant health ภายในประเทศของตน ตามมาตรฐานขององค์การมาตรฐานระหว่างประเทศแต่ละด้าน เพื่อให้มีข้อกำหนดด้านเทคนิคที่สอดคล้องกัน ไม่สร้างปัญหาอุปสรรคด้านการค้าระหว่างประเทศ ดังนี้

  • Food safety อ้างอิงมาตรฐานของโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ ภายใต้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) หรือ CODEX Alimentarius
  • Animal health อ้างอิงมาตรฐานขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ Office International des Epizooties (OIE)
  • Plant health อ้างอิงมาตรฐานของอนุสัญญาอารักขาพืชระหว่างประเทศ หรือ International Plant Protection Convention (IPPC)