ความเป็นมา

ตามที่ความตกลงมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช หรือ ความตกลง SPS ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ให้ประเทศสมาชิกใช้มาตรฐานระหว่างประเทศหรือมาตรฐานสากลเป็นแนวทางในการกำหนดกฎหมายหรือมาตรการภายในประเทศของตน โดยมาตรการด้านสุขอนามัยพืช ความตกลง SPS ระบุให้ประเทศสมาชิก WTO ใช้ International Standards for Phytosanitary Measures หรือ มาตรฐาน ISPMs เป็นมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ความตกลง SPS ไม่สามารถกำหนดให้ประเทศสมาชิก WTO ใช้มาตรฐาน ISPMs เป็นมาตรฐานบังคับ แต่หากประเทศสมาชิก WTO นำมาตรฐาน ISPMs ไปปฏิบัติใช้ สามารถนำไปอ้างอิงเพื่อใช้เจรจาเมื่อเกิดข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศคู่ค้า และ WTO จะใช้มาตรฐาน ISPMs เป็นเกณฑ์ตัดสินข้อพิพาทนั้น และหากประเทศสมาชิกใดกำหนดมาตรการสุขอนามัยพืชที่สูงกว่ามาตรฐาน ISPMs ก็ต้องมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุน

มาตรฐาน ISPMs แต่ละเรื่องได้รับการพิจารณายอมรับจากคณะกรรมาธิการมาตรการสุขอนามัยพืช (Commission on Phytosanitary Measures, CPM) เรื่องแรกได้รับการยอมรับให้ประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2536 จนถึง พ.ศ. 2560 ประกาศใช้แล้วรวม 41 หมายเลข มาตรฐาน ISPMs ส่วนใหญ่เป็นมาตรฐานประเภทหลักการ (Conceptual standards) เช่น การวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช คำศัพท์ด้านสุขอนามัยพืชที่ให้นิยามสำหรับงานสุขอนามัยพืช การเฝ้าระวังศัตรูพืช การกำหนดพื้นที่ปลอดหรือปรากฏศัตรูพืชต่ำ การสร้างความเท่าเทียมด้านมาตรการสุขอนามัยพืช การสร้างระบบเพื่อออกกฎระเบียบการนำเข้า เป็นต้น สำหรับมาตรฐานที่เฉพาะเจาะจง (Specific standards) เช่น มาตรฐานการกำจัดศัตรูพืชในวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ (Wood packaging material) การจัดตั้งพื้นที่ปลอดแมลงวันผลไม้ (Pest free area for fruit flies) มาตรการลดความเสี่ยงโดยการฉายรังสี (Irradiation treatment) การจัดทำระเบียบวิธีวินิจฉัยศัตรูพืช (Diagnostic protocols) เป็นต้น