คณะกรรมการ CPM

คณะกรรมการ CPM ย่อมาจาก Commission on Phytosanitary Measures หรือ คณะกรรมาธิการมาตรการสุขอนามัยพืช เป็นคณะกรรมการที่จัดตั้งขี้นภายใต้อนุสัญญา IPPC มาตรา 11 เพื่อบริหารงานภายใต้อนุสัญญา IPPC และสนับสนุนการปฏิบัติงานของประเทศภาคีสมาชิกตามวัตถุประสงค์ของอนุสัญญา IPPC การประชุมคณะกรรมาธิการฯครั้งแรกใน พ.ศ.2541 (ค.ศ.1998) ใช้ชื่อคณะกรรมาธิการว่า Interim Commission on Phytosanitary Measures (ICPM) โดย FAO จัดให้มีการประชุม ICPM ปีละครั้งตั้งแต่ พ.ศ.2541 ถึง พ.ศ.2548 เป็นเวลา 7 ปี แล้วปลี่ยนเป็น CPM ใน พ.ศ.2549 เนื่องจากอนุสัญญา IPPC ฉบับ พ.ศ.2540 (ค.ศ.1997) มีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2548 (ค.ศ.2005)

CPM ประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญา IPPC ประเทศละ 1 คน และผู้สังเกตุการณ์จากองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องกับงานอารักขาพืช เช่น องค์กรอารักขาพืชระดับภูมิภาค (Regional Plant Protection Organizations, RPPOs) องค์กรภายใต้ WTO การประชุมจัดขึ้นปีละครั้ง ช่วงเดือนมีนาคม หรือ เดือนเมษายน ณ สำนักงานใหญ่ FAO กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี อย่างไรก็ตามในพ.ศ.2560 สาธารณรัฐเกาหลี ขอรับเป็นเจ้าภาพการประชุม CPM ครั้งที่ 12 ซึ่งเป็นการประชุมนอกสำนักงานใหญ่ FAO เป็นครั้งแรก

การประชุม CPM เป็นการประชุมเพื่อ

  • ทบทวนติดตามสถานการณ์งานอารักขาพืชทั่วโลกเพื่อพิจารณากิจกรรมที่ควรนำไปควบคุมศัตรูพืชที่เข้าไปในพื้นที่ที่ยังไม่เคยมีศัตรูพืชชนิดนั้นมาก่อน แต่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแพร่กระจายในพื้นที่นั้น
  • พิจารณาจัดทำและยอมรับมาตรฐานระหว่างประเทศด้านมาตรการสุขอนามัยพืช (International Standards for Phytosanitary Measures, ISPMs) รวมทั้งแผนการทำงานและภาระผูกพันต่างๆที่มีอยู่ภายใต้อนุสัญญา IPPC
  • พิจารณากฎระเบียบและขั้นตอนการดำเนินงานของกระบวนการระงับข้อพิพาท
  • พิจารณายอมรับแนวทางสำหรับการยอมรับ RPPOs
  • สร้างความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
  • พิจารณาจัดตั้งคณะทำงานปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย

การดำเนินการประชุม CPM เป็นไปตาม RULES OF PROCEDURE OF THE COMMISSION ON PHYTOSANITARY MEASURES โดยเอกสารดังกล่าวได้รับการยอมรับจากที่ประชุม CPM ครั้งที่ 8 (เมษายน พ.ศ.2556) และได้รับความเห็นชอบจากเลขาธิการ FAO ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2556