ความเป็นมาตั้งแต่ปี 2554
จากการที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ในฐานะหน่วยประสานงานอนุสัญญาอารักขาพืชระหว่างประเทศ (International Plant Protection Convention; IPPC Contact Point) ของไทย เห็นความจำเป็นในการสร้างฐานข้อมูลสุขอนามัยพืชซึ่งประกอบด้วยฐานข้อมูลรายชื่อศัตรูพืชของประเทศไทย และฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญศัตรูพืชจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อมาร่วมกันพิจารณาจัดทำรายชื่อศัตรูพืชของประเทศด้วยความรอบคอบ สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องและมีความเป็นปัจจุบัน เนื่องจากรายชื่อศัตรูพืชของประเทศไทยจัดทำจากหลายหน่วยงาน โดยแต่ละหน่วยงานใช้การรวบรวมจากเอกสารวิชาการเก่าหรือจากการรายงานการพบศัตรูพืชชนิดใหม่ของหน่วยงานนั้นๆ ทำให้ข้อมูลศัตรูพืชของประเทศไทยขาดความเป็นเอกภาพ และจะเป็นสาเหตุหนึ่งของอุปสรรคในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพราะข้อมูลรายชื่อศัตรูพืชในประเทศเป็นสิ่งแรกที่นำไปใช้เพื่อวิเคราะห์ในการสร้างเงื่อนไขด้านมาตรการสุขอนามัยพืชของแต่ละประเทศ ในการเปิดตลาดสินค้าเกษตรด้านพืช ประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกต้องส่งรายชื่อศัตรูพืช (pest list) ให้แก่ประเทศผู้นำเข้า นำไปวิเคราะห์ความเสี่ยงว่าศัตรูพืชว่ามีโอกาสที่จะเป็นศัตรูพืชกักกัน (quarantine pest) ของประเทศผู้นำเข้าหรือไม่ ในทางกลับกันหากประเทศไทยจะนำเข้าสินค้าด้านพืชชนิดใด ต้องได้รับรายชื่อศัตรูพืชจากประเทศผู้ส่งออกนั้นมาวิเคราะห์ความเสี่ยง หากผลวิเคราะห์ว่าศัตรูพืชนั้นเป็นศัตรูพืชกักกันก็สามารถออกมาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมการนำเข้าได้
มกอช. ได้เริ่มโครงการจัดทำฐานข้อมูลด้านสุขอนามัยพืชของประเทศไทยมาแล้ว 4 ระยะ เริ่มตั้งแต่ปี 2554 โดยช่วง 2 ระยะแรก ดำเนินการจ้างที่ปรึกษาจากสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำโครงสร้างฐานข้อมูลสุขอนามัยพืช และรวบรวมรายชื่อศัตรูพืชในประเทศไทย รายชื่อศัตรูพืชกักกันของประเทศไทย และรายชื่อนักวิจัยศัตรูพืชในประเทศไทย ใส่ไว้ในฐานข้อมูล โดยมีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลศัตรูพืชในประเทศระยะแรกจากนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวยังขาดความมีส่วนร่วมในการตรวจสอบจากนักวิชาการอื่นที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในเรื่องศัตรูพืชแต่ละกลุ่ม มกอช.จึงได้จัดทำโครงการจัดทำฐานข้อมูลด้านสุขอนามัยพืชของประเทศไทยต่อระยะที่ 3 ในปี 2557 และระยะที่ 4 ในปี 2558 เพื่อจำแนกข้อมูลศัตรูพืชที่มีความเฉพาะเจาะจงเป็นกลุ่มๆ โดยดำเนินการขอมติคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรในปี 2556 จัดตั้ง คณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองฐานข้อมูลด้านสุขอนามัยพืช ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรอง ตรวจสอบ ข้อมูลศัตรูพืชให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญด้านศัตรูพืช เพื่อนำเข้าสู่ฐานข้อมูลสุขอนามัยพืชของประเทศไทยอย่างเป็นระบบ
ในปี 2557 ได้จัดสัมมนาเพื่อสร้างเครือข่ายในการพัฒนาฐานข้อมูลศัตรูพืชและสร้างความรู้ความเข้าใจต่อมาตรการสุขอามัยพืชในประเทศและที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศรวม 4 ครั้ง ณ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดสงขลา จังหวัดเชียงใหม่ และ กรุงเทพมหานคร ผู้เข้าร่วมสัมมนาประมาณ 280 คน นอกจากนี้ได้จัดจ้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกลุ่มศัตรูพืชกลุ่มละ 1 คน ตรวจสอบข้อมูลศัตรูพืช 7 กลุ่ม ได้แก่ 1. แมลง 2. ไร สัตว์มีกระดูกสันหลัง สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง 3. ไวรัส ไวรอยด์ 4. รา 5. แบคทีเรีย ไฟโตพลาสมา 6. ไส้เดือนฝอย 7. วัชพืช
ในปี 2558 คณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองฐานข้อมูลด้านสุขอนามัยพืช ภายใต้คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร มีมติให้จัดตั้งคณะทำงาน focus group 6 คณะ ได้แก่ 1. กลุ่มแบคทีเรีย ไฟโตพลาสมา 2. กลุ่มไวรัส ไวรอยด์ 3. กลุ่มรา 4. กลุ่มไส้เดือนฝอย5. กลุ่มวัชพืช 6. กลุ่มแมลง กลุ่มไร สัตว์มีกระดูกสันหลัง สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง แต่ละคณะประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญศัตรูพืชของกลุ่มนั้นๆ จากสถาบันการศึกษา กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมป่าไม้ กรมอุทธยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช การประชุมคณะทำงาน focus group ทั้ง 6 คณะ ได้พิจารณารูปแบบที่จะนำมาใช้เป็นมาตรฐานสำหรับหัวข้อและหลักเกณฑ์การใส่ข้อมูลในฐานข้อมูลศัตรูพืชในประเทศไทยของศัตรูพืช 6 กลุ่ม และทบทวนรายชื่อศัตรูพืชในประเทศทั้ง 6 กลุ่ม พบว่าข้อมูลในส่วนของรายชื่อศัตรูพืช เช่น ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อพ้อง ชื่อสามัญ ลำดับอนุกรมวิธาน มีความถูกต้อง แต่ในรายละเอียดส่วนอื่นของศัตรูพืชแต่ละชนิด เช่น พืชอาศัย การแพร่กระจาย สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม แหล่งเก็บรักษาตัวอย่างอ้างอิง รูปภาพ ยังขาดความสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังขาดข้อมูลในเรื่องสถานภาพของศัตรูพืชซึ่งเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญและมีความจำเป็นสำหรับงานอารักขาพืชของประเทศไทย ซึ่ง มกอช.จะต้องดำเนินการปรับปรุงเพิ่มเติมต่อไป
Copyright © 2016 Bcode, Inc. All Right Reserved : OK